วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ANOVA & ANCOVA

การทดลองรูปแบบการสอน 2 แบบ เช่นแบบ ก และแบบ ข เปรียบเทียบคะแนนของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่มใช้ t-test independent

แต่ถ้ารูปแบบการสอนมีมากกว่า 2 แบบ เช่น แบบ ก ข ค เปรียบเทียบคะแนนของทั้ง 3 กลุ่มใช้ ANOVA การวิเคราะห์ความแปรปรวน Analysis of Variance

แต่ถ้าพบว่ามีตัวแปรที่ส่งผลต่อตัวแปรตาม ซึ่งกลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 กลุ่มนี้ไม่ได้รับการแบ่งแบบยุติธรรม หรือใช้หน่วยการแบ่งที่ใหญ่ เช่นการสุ่มยกกลุ่ม (cluster sampling) ต้องนำตัวแปรตัวนี้มาคำนวณด้วยจึงใช้สถิติ ANCOVA การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม Analysis of Covariance


ศึกษาเพิ่มเติม
http://202.129.0.151/Upload/Statistics/Ancova.pdf
http://watpon.com/www/mod/resource/view.php?id=4

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

Students' Perceptions of Online Learning



Students’ Perceptions of Online Learning
Aytekin Isman
Zehra Altinay Gazi
Fahriye Altinay Aksal

ปิยมนัส วรวิทย์รัตนกุล นำเสนอ

บทนำ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจการรับรู้ของผู้เรียนในการได้รับประสบการณ์การเรียนแบบออนไลน์ มีคำถามการวิจัย 4 ข้อคือ
1. ผู้เรียนออนไลน์มีความเข้าใจเกี่ยวกับประสบการณ์ในการเรียนแบบออนไลน์อย่างไร
2. ผู้เรียนออนไลน์เปรียบเทียบการเรียนแบบออนไลน์กับการเรียนแบบชั้นเรียนปกติอย่างไร
3. ผู้เรียนออนไลน์มีความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีต่อการเรียนแบบออนไลน์อย่างไร
4. วัฒนธรรม ภาษาและภูมิหลัง ส่งผลต่อประสบการณ์ในการเรียนแบบออนไลน์มากน้อยเพียงใด

วิธีดำเนินการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้เรียนออนไลน์จำนวน 12 คน ได้มาโดยสมัครใจ จากหลายวัฒนธรรม เช่น คาซัดสถาน โซมาเลีย จอร์แดน ตุรกี ไซปรัส

ผลการวิจัย
มุมมองในการเรียนแบบออนไลน์ของผู้เรียน
ผู้เรียนคนที่ 1 ได้นิยามการเรียนแบบออนไลน์ว่า เป็นโปรแกรมการสอนสำหรับคนจำนวนมาก ซึ่งผู้เรียนสามารถเข้าเรียนพร้อมกันได้หลายคน และง่ายในการเรียน การเข้าใจสื่อการเรียน นอกจากนี้ผู้เรียนคนอื่นๆ ก็ให้คำนิยามที่หลากหลายกันออกไปเช่น
“ ระบบสำหรับการเข้าเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต มีทางในการติดต่อสื่อสารที่หลากหลาย”
“การเข้าเรียนที่ได้ใช้สื่อการเรียนที่หลากหลาย เป็นวิธีการการศึกษาแบบใหม่ในโลก และช่วยให้นักเรียนจำนวนมากพัฒนาความรู้และความสามารถ”

การเปรียบเทียบการเรียนแบบออนไลน์กับการเรียนแบบชั้นเรียนปกติของผู้เรียน
ผู้เรียนคนที่ 1 เปรียบเทียบการเรียนแบบออนไลน์กับการเรียนแบบชั้นเรียนปกติว่าการเรียนแบบออนไลน์จะช่วยทำให้ประหยัดเวลา
ผู้เรียนคนที่ 2 กล่าวว่า “บางครั้งการเรียนในชั้นเรียนก็เป็นสิ่งดี ถ้ามีคำถามก็สามารถถามได้โดยตรง แต่ในการเรียนแบบออนไลน์ส่วนใหญ่อยู่กับตัวเองแม้ว่าจะสามารถติดต่อกับครูผ่านทาง อีเมลได้รู้สึกว่าการเรียนแบบชั้นเรียนปกติมีข้อได้เปรียบกว่าการเรียนแบบออนไลน์”
ผู้เรียนคนที่ 3 เน้นที่ความแตกต่างระหว่างการเรียนแบบชั้นเรียนปกติและแบบออนไลน์
ผู้เรียนคนที่ 4 คิดว่าการเรียนแบบออนไลน์เป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด
ผู้เรียนคนที่ 5 กล่าวว่า “การเรียนแบบปกติสามารถถามคำถามผู้สอนได้ตลอดเวลาโดยตรงในชั้นเรียน แต่ในการเรียนแบบทางไกลมันยากที่ต้องเรียนหรือค้นหาความรู้ตามลำพัง
ผู้เรียนคนที่ 6, 7, 8 และ 9 ระบุว่าการเรียนแบบชั้นเรียนปกติเป็นกระบวนการที่มีปฏิสัมพันธ์มากกว่า ผู้เรียนแต่ละคนมีโอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับทั้งผู้สอนและเพื่อนผู้เรียน
ผู้เรียนคนที่ 10, 11 และ 12 กล่าวถึงเรื่องเด่นของประสิทธิผลของการเรียนแบบชั้นเรียนปกติ เพราะว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน

ผลกระทบของวัฒนธรรมที่มีต่อประสบการณ์การเรียนแบบออนไลน์
ผู้เรียนมีความเห็นว่าวัฒนธรรมเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลต่อการรับรู้และประสบการณ์การเรียนแบบออนไลน์ ผู้เรียนมีความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของวัฒนธรรมในหลายๆ ด้าน เช่น
“วัฒนธรรม ภาษา และภูมิหลัง ส่งผลต่อความเข้าใจในการเรียนแบบออนไลน์”
“วัฒนธรรม ภาษา และภูมิหลัง ส่งผลต่อความสามารถในการติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต”
“วัฒนธรรม ภาษา และภูมิหลัง เป็นข้อจำกัดความเข้าใจของผู้เรียน”

ผลกระทบที่มีต่อประสบการณ์การเรียนแบบออนไลน์
ผู้เรียนเห็นด้วยว่าการใช้ภาษาอังกฤษในกาเรียนแบบออนไลน์และการมีความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมทำให้มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการเรียนแบบออนไลน์ที่จะประสบความสำเร็จ
“ปัญหาหลักคือ ภาษา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดของความเข้าใจ”
“ปัญหาในการติดต่อสื่อสารแบบออนไลน์เป็นผลมาจากความแตกต่างของวัฒนธรรมซึ่งเป็นเรื่องของความเข้าใจ”
“การออกแบบหน้าเว็บอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะลดความแตกต่างของความเข้าใจ”


การอภิปรายและสรุปผล
ข้อค้นพบของการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงจากการเรียนแบบชั้นเรียนปกติไปสู่การเรียนแบบออนไลน์ ส่งผลต่อความเข้าใจ การเรียนแบบออนไลน์ต้องการคุณสมบัติของผู้เรียนที่มีการตอบสนองต่อตนเอง การจูงใจตนเอง และความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับผู้สอนและเพื่อนผู้เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นผลมาจากคุณภาพของผู้เรียนแต่ละคนและภูมิหลังทางวัฒนธรรม ปัจจัยเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการบูรณาการเพื่อลดความแตกต่างระหว่างผู้เรียนเพื่อให้หลักสูตรการเรียนแบบออนไลน์ประสบความสำเร็จ

การนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับ Augmented Reality AR

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

Ten facts of life for distance learning courses

Ten facts of life for distance learning courses
Annette C.Lamb
William L.Smith
เป็นบทความที่แนะนำการจัดการเรียนการสอนทางไกล ซึ่งมีส่วนที่แตกต่างจากการเรียนในชั้นเรียนปกติ เช่น ผู้เรียนมีความเป็นเอกกัตบุคคล เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ บางครั้งเทคโนโลยีอาจผิดพลาด จำเป็นต้องมีการวางแผนสำรองไว้ล่วงหน้า หรือการสำรองข้อมูลในเครื่องเซิฟเวอร์อยู่เป็นประจำ ต้องมีการออกแบบการสอนเป็นอย่างดี ยิ่งกว่าการสอนในชั้นเรียนปกติ ให้ผู้เรียนได้เห็นภาพกว้างของทั้งรายวิชา รวมทั้งงานที่มอบหมายหรือโครงการต่างๆ และกำหนดในการส่งงานแต่ละชิ้น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถวางแผนการเรียนของตนเองได้ แต่ผู้เรียนส่วนใหญ่ก็มักจะรีรอ ไม่ค่อยมีความกระตือรือร้นในการทำงาน ดังจะเห็นได้จาก การส่งงานแต่ละชิ้นมักจะไม่ทันกำหนดเวลาของผู้สอน ดังนั้นผู้สอนอาจจะต้องเผื่อเวลาในการส่งมอบงาน และมีการกระตุ้นเตือนผู้เรียนอยู่สม่ำเสมอ ยิ่งถึงเวลากำหนดส่งงานแล้วยังไม่ได้รับงาน ยิ่งจะต้องติดตามผู้เรียน ซึ่งอาจมีสาเหตุหลายประการเช่น ความเจ็บป่วย ปัญหาส่วนตัว หรือปัญหาเกี่ยวกับการทำงานประจำ ต้องมีช่องทางในการติดต่อหลายๆทาง เช่น อีเมล โทรศัพท์ หรือที่อยู่ทางไปรษณีย์ เมื่อมีการส่งงานมาแล้วจะต้องให้ผลย้อนกลับ ยิ่งให้ผลย้อนกลับทันทีก็จะยิ่งทำให้ผู้เรียนเกิดความพึงพอใจและมีกำลังใจที่จะทำงานต่อไป อาจจะเป็นการให้ผลย้อนกลับผู้เรียนแต่ละคน หรืออาจจะนำผลงานมาแสดงและชี้ชวนให้ผู้เรียนคนอื่นๆ เข้ามาดูในประเด็นที่น่าสนใจ ในการตรวจผลงานอาจจะต้องเผื่อเวลาเป็นสองเท่า แม้บางครั้งเทคโนโลยีจะทำให้เราประหยัดเวลา แต่ก็มีบางครั้งที่เทคโนโลยีต้องใช้เวลามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเริ่มต้น ต้องเน้นการเรียนแบบ active learning สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้เรียนใฝ่หาความรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนมีความคิดดีๆ อยู่ที่ผู้สอนจะตั้งคำถามได้น่าสนใจหรือไม่?

วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

Ten facts of life for distance learning courses




Ten facts of life for distance learning courses
Annette C. Lamb
William L. Smith

ปิยมนัส วรวิทย์รัตนกุล นำเสนอ
บทนำ
การนำเทคโนโลยีมาใช้ในชั้นเรียนมีมานานกว่า 20 ปีแล้ว เช่นการเรียนผ่านเว็บ ซึ่งในการเรียนแต่ละรูปแบบนั้นก็มีสภาพแวดล้อม มีปัญหา และมุมมองที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องปรับแนวคิดเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร การเตรียมชั้นเรียน และสิ่งอื่นๆ ที่จะส่งเสริมการเรียนในชั้นเรียนปกติ

1. Students are individuals
ผู้เรียนมีความแตกต่างระหว่างบุคคล ในชั้นเรียนปกติผู้เรียนแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันและในการเรียนทางไกลก็มีความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วย เช่นระดับความพร้อมในการเรียนผู้เรียนมีความพร้อมที่แตกต่างกัน ผู้สอนต้องช่วยเตรียมความพร้อมผู้เรียนแต่ละคน ทั้งประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยี ทักษะในการถึงเนื้อหา และคุณลักษณะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนทางไกล

2. Technologies change and evolve
เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่เสมอ ต้องมีการเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเช่นในระหว่างภาคเรียนอาจมีโปรแกรมเปิดเว็บรุ่นใหม่ออกมา ซึ่งอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่จะทำให้การรูปแบบการนำเสนอดีขึ้น แต่แม้กระนั้นก็จำเป็นต้องพิจารณาถึงทักษะของผู้เรียนว่าสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่นี้ได้หรือไม่

3.Technology fails
เทคโนโลยีอาจผิดพลาดได้ เช่นการขัดข้องของอินเทอร์เน็ต เครื่องพิมพ์ หรือเครื่องส่งสัญญาณวิดีโอ การเรียนทางไกลจำเป็นต้องมีการวางแผนล่วงหน้าในกรณีที่เกิดปัญหาขัดข้องต่างๆ เช่นอาจมีอุปกรณ์สำรองข้อมูลในกรณีที่เครื่องแม่ข่ายเกิดปัญหา หรือเทคโนโลยีสำรองอื่นๆ เช่น การนำเสนอด้วย PowerPoint อาจใช้เอกสาร โทรสาร หรืออื่นๆ แทน

4.Planning shows
การวางแผนการสอนจำเป็นต้องวางแผนเป็นอย่างดียิ่งกว่าการสอนในชั้นเรียนปกติไม่ใช่เพียงการเตรียมเนื้อหาล่วงหน้า 1 สัปดาห์ การเตรียมสื่อการสอนก่อน 1 คืน หรือทำสำเนาเอกสารก่อนเข้าห้องสอน 5 นาที การเรียนการสอนทางไกลไม่สามารถรีรอได้เหมือนการสอนในชั้นเรียนปกติ รายละเอียดการเรียนการสอนทั้งหมดจะต้องได้รับการวางแผนและเตรียมการเป็นอย่างดีก่อนเริ่มภาคเรียน ผู้เรียนชอบที่จะเห็นภาพกว้างก่อนการเรียนการสอนจะเริ่มต้น รวมทั้งงานที่มอบหมาย โครงการ และข้อกำหนดต่างๆ เพื่อผู้เรียนจะได้วางแผนการเรียนให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น สามารถทำงานที่มอบหลายเสร็จทันกำหนด

5. Students procrastinate
ผู้เรียนมักรีรอที่จะทำงาน ในการกำหนดส่งงานหรือโครงการที่มอบหมาย มักจะไม่ได้รับงานเสร็จตามกำหนด ผู้สอนอาจใช้ปฏิทินการศึกษาเพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้เห็นกำหนดการต่างๆ ล่วงหน้าทั้งหมด และอาจจะต้องเผื่อกำหนดส่งล่วงหน้าก่อน เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เริ่มทำและจะได้เสร็จงานตามกำหนด

6. Track them of lose them
การติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนแต่ละคนเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกันการเรียนในชั้นเรียนปกติ แต่เนื่องจากไม่ได้พบผู้เรียนแต่ละคนแบบเผชิญหน้าอาจจะไม่ได้ติดตามผู้เรียนอยู่สม่ำเสมอ เมื่อถึงกำหนดส่งงานและยังไม่ได้รับงานเป็นเวลาสมควรที่จะต้องตรวจสอบผู้เรียนว่าเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ ซึ่งปัญหาสามารถเกิดได้กับผู้เรียน เช่น ความเจ็บป่วย ปัญหาส่วนตัว ปัญหาเรื่องงาน หรือปัญหาเกี่ยวกับเวลาการทำงาน ในการติดตามผู้เรียนอาจจะต้องใช้แนวทางในการติดต่อหลายทาง ดังนั้นในครั้งแรกที่มีการปฐมนิเทศต้องแน่ใจว่าผู้สอนมีข้อมูลของผู้เรียนอย่างเพียงพอ เช่น เบอร์โทรศัพท์ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน หรือที่อยู่ทางไปรษณีย์

7. Students appreciate feedback
ผู้เรียนต้องการผลย้อนกลับ โดยเฉพาะการให้ผลย้อนกลับของงานที่มอบหมาย ผู้สอนควรจะวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะให้ผลย้อนกลับต่อผู้เรียนอย่างไร เพื่อให้ผู้เรียนทราบว่าผู้สอนใส่ใจในความก้าวหน้าในการเรียนของผู้เรียนและยินดีที่ได้รับผลงานนั้นๆ การติดต่อสื่อสารอาจเป็นในรูปของ อีเมล โทรสาร จดหมาย โทรศัพท์ หรือการโพสต์ข้อความบนหน้าเว็บ หากผู้เรียนโพสต์ผลงานไว้บนหน้าเว็บ ผู้สอนควรจะเปิดดูและให้ผลย้อนกลับทันที นอกจากนี้อาจจะชี้ชวนให้ผู้เรียนคนอื่นๆ เข้ามาชมผลงานและแสดงให้เห็นจุดสำคัญหรือประเด็นที่น่าสนใจ


8. Technology takes time
เทคโนโลยีต้องใช้เวลา เช่นการพัฒนาเว็บรายวิชา หรือตรวจงานอาจใช้เวลาเป็นสองเท่าจากที่วางแผนไว้ แม้ว่าในหลายๆ ครั้งเทคโนโลยีจะช่วยทำให้ประหยัดเวลา แต่อย่างน้อยในตอนเริ่มต้นเทคโนโลยีก็ใช้เวลา หรือในกรณีที่เกิดการขัดข้องของเทคโนโลยี

9. Active learning is critical
การมีส่วนร่วม ปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียนและกิจกรรมที่หลากหลายเป็นสิ่งสำคัญของการเรียนในทุกรูปแบบ และสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเรียนทางไกล การมีส่วนร่วมเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนเรียน มากกว่าเป็นเพียงการมอบหมายให้อ่านเนื้อหา ซึ่งอาจทำโดยการจัดหน้าเว็บที่แนะนำการเรียน หรือกิจกรรมอย่างอื่นที่ใช้สื่อในชั้นเรียนปกติ นอกจากนี้การประเมินผลอาจประเมินโดยผู้สอน ประเมินตนเอง หรือประเมินโดยเพื่อนผู้เรียนก็ได้

10. Students have great ideas
การรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียนเป็นสิ่งที่ดี ความคิดเห็นของผู้เรียนนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับการเรียนการสอน เช่นประเด็นเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียน หรือคำแนะนำอื่นๆ เช่นการวางแผนจัดกิจกรรม 2 กิจกรรม อาจจะตัดออก 1 กิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนได้มีเวลาในการทำอีกกิจกรรมหนึ่งมากขึ้น หรือตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นออก

การจัดการเรียนการสอนทางไกล มีสภาพแวดล้อม บริบทที่แตกต่างจากการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติ ดังนั้นในการวางแผนการเรียนการสอนทางไกล จำเป็นจะต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ เพื่อให้การเรียนการสอนทางไกลเป็นไปด้วยความราบรื่น และบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

web conference seminar

สัปดาห์นี้เป็นการศึกษาภายใต้หัวข้อเรื่อง web conference seminar
เน้นเรื่องการทดลองปฏิบัติจริง ซึ่งได้ทดลองโปรแกรมต่างๆ เช่น
red5
http://osflash.org/red5
dimdim
http://www.dimdim.com

การประชุมทางไกลนี้ นอกจากจะใช้โปรแกรมที่กล่าวมาแล้ว ก็อาจใช้โปรแกรม IM ต่างๆ
เช่น MSN Skype ซึ่งสามารถใช้ประชุมกันทางไกลได้หลายคนพร้อมกัน แต่บางโปรแกรมก็มีข้อจำกัด เช่น ส่งข้อความได้หลายคนพร้อมกัน
แต่ก็ไม่สามารถส่งภาพและเสียงได้หลายๆคน

ส่วนสำคัญคือรูปแบบการสื่อสารแบบประสานเวลา Synchronous
สามารถส่งภาพและเสียงได้ทั้ง 2 ทาง
นอกจากนี้อาจจะสามารถแสดงเอกสารสำหรับนำเสนอได้ด้วย
การใช้งานในฝั่งลูกข่าย(client) ต้องไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน User Friendly